ชีวิตที่เราแต่งขึ้นมาเอง
ปีใหม่เรามักจะตั้งอธิฐานว่า ปีนี้เราจะตั้งใจทำอะไรใหม่ๆต่อชีวิตเราให้ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว( New year resolution) นับจากการลดน้ำหนัก การเสาะหาความรู้ใหม่ๆ การยกเลิกการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อเรา รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงขึ้นเพื่อทำให้สุขภาพของเราให้ดีขึ้น และการปรับความสัมพันธ์ของเราต่อคนรอบข้างให้ดีขึ้น โดยที่เราจะทำได้หรือไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ตามที่เราคาดหมายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผมเชื่อว่า ชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความผกผันโดยสิ่งที่เราคาดหวังไว้นั้น ไม่ได้ปรากฏตามที่เราปรารถนาเสมอ สิ่งที่เราคาดหวังไว้ มักจะตามมาด้วยความผิดหวังอยู่เรื่อย เพราะว่าชีวิตของคนเรานั้น มันปรากฏขึ้นเพียงชั่วครู่เท่านั้น กล่าวคือชีวิตเป็นของชั่วคราว แต่ความตายเป็นสิ่งถาวร ข้อแตกต่างระหว่างการมีชีวิตและความตายจึงเป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจน และนัยที่สำคัญของสองสิ่งนี้ จักทำให้เราตระหนักเสมอว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างไร และถึงแม้ว่าชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว แต่การหาคำตอบให้กับชีวิตแบบชั่วครั้งชั่วคราว ก็ยังดีกว่าเราไม่ได้ใช้ชีวิตตามที่เราได้คาดหวังไว้ แม้ว่าความผิดหวังจะปรากฏเป็นเงาตามตัวบ่อยครั้ง
หลายครั้งเรามักจะเรียกร้องให้ชีวิตที่เราคาดหวังนั้นจะต้องออกมา perfect ซึ่งก็ไม่เคยเป็นอย่างนั้น และถ้าเราต้องการจะเข้าใจถึงก้นบึ้งถึงปัญหาว่าทำไมสิ่งที่เราคาดหวังนั้นไม่เคยเป็นอย่างที่เราได้คาดหวังได้นั้น เราจำต้องเข้าใจถึงความหมายระหว่างการมีชีวิตอยู่กับความตาย ความกลัวความตายเป็นสิ่งที่มีกระทบต่อจิตใจของมนุษย์เราอย่างมาก หลายคนพอคิดถึงความตายแล้ว ก็ยอมรับกับความคิดดังกล่าวไม่ได้ว่าตัวเองจะต้องตายในที่สุด และพยายามหาวิธีการต่างๆในการทำให้ตนเองไม่ต้องตาย บางคนเลือกเล่นการเมือง บางคนหาเงินให้มากไว้เพื่อจะได้สร้างคฤหาสน์ใหญ่โตสะสมโภคทรัพย์ต่างๆมากมาย ฯลฯ ต่างๆเหล่านี้เป็นความพยายามในการสร้างความอมตะให้กับตัวเรา เพื่อสร้างสิ่งที่เราสำเหนียกว่ามันเป็นสิ่งถาวรและความสมบูรณ์ต่อการมีชีวิตชั่วคราวของเรา ซึ่งความจริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นการหลอกตนเองมากกว่า เพราะสิ่งที่เราคิดว่าถาวรหรือสมบูรณ์ก็จะต้องตายไปด้วยเช่นกัน
ข้อแตกต่างที่เราต้องตระหนักและแยกแยะให้ออกให้ได้ คือการแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงของความตาย กับความคิดในเรื่องความตาย ข้อเท็จจริงของความตายเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงกับการมีชีวิตอยู่ แยกกันไม่ได้ แต่ความคิดในเรื่องความตายทำให้เราเริ่มสร้างจินตนาการต่างๆเกี่ยวกับความน่าสะพรึงกลัวของความตายขึ้นมาหลอกหลอนจิตใจของเรา กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ข้อเท็จจริงในเรื่องความตาย กับความคิดในเรื่องความตายเป็นคนละเรื่องกัน ข้อเท็จจริงในเรื่องความตายต่างหากที่ควรเป็นสิ่งที่เราควรตระหนักอยู่เสมอ
และเช่นเดียวกัน ข้อเท็จจริงในเรื่องของความตาย ก็ย่อมไม่ต่างจากข้อเท็จจริงในเรื่องการมีชีวิตอยู่ และข้อเท็จจริงของการมีชีวิตอยู่นี้ จักทำให้เรา ‘เลือก’ ที่จะทำในสิ่งต่างๆที่เราจะต้องกำหนดมันขึ้นมา ฉะนั้น มนุษย์เราจึงสามารถที่จะเลือกทำในสิ่งที่ตนเองมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ให้กับตัวเขาและสังคมให้ได้มากที่สุด กล่าวคือ เราเลือกชะตาชีวิตตามความคิดของเราหรือตามความลำเอียงของเรา แต่ความคิดและความลำเอียงที่ว่านี้ ก็ถือว่ามีคุณงามความดีในตัวของมัน อย่างเช่นอียิปต์โบราณ มักอุทิศชีวิตของพวกเขาต่อความลี้ลับของความตาย ในขณะที่กรีกโบราณ เราจะพบว่าแม้แต่เทพเจ้าของกรีก ก็เลือกที่จะใช้ชีวิตเหมือนกับมนุษย์ธรรมดา อารยะของอียิปต์โบราณจึงสร้างความคิดให้กลัวต่อความตาย โดยไม่ยอมรับต่อข้อเท็จจริงในเรื่องความตาย ในขณะที่อารยะธรรมของกรีกโบราณ รับรู้ต่อข้อเท็จจริงของความตาย และไม่คิดหรือจินตนาการในเรื่องความตายให้เข้ามาครอบงำจิตใจพวกเขา รูปธรรมที่เราได้เห็นอย่างชัดเจน คือปราชญ์โสกราตีส ที่ยอมเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อดำรงไว้ซึ่งสัจจะที่เขาถือว่าเป็นสิ่งที่งดงามที่สุด โสกราตีสยอมรับต่อข้อเท็จจริงของความตายโดยไม่ไปคิดถึงความตาย แต่เลือกใช้ชีวิตที่เขามองว่าจักเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติโดยรวม นี่คือข้อแตกต่างระหว่างความคิดและข้อเท็จจริง ระหว่างความตายและการใช้ชีวิต
ผมเคยดูภาพยนต์เรื่อง พระลอ ที่พระลอได้กล่าวถึงชีวิตของมนุษย์เรา โดยพระลอมองว่า มนุษย์เราจักต้องรู้จักข้อเท็จจริงระหว่างความตายและการมีชีวิตอยู่ โดยพระองค์ได้กล่าวต่อท้าวฮุ่ง และต่อแม่ทัพนายกองและหลายขุนพลทั้งหลายว่า…
‘…และชีวิตนั้น ข้าฯคิดว่าไม่เหมือนละคร เพราะละครนั้น ผู้หนึ่งแต่งให้อีกผู้หนึ่งเต้น แต่ชีวิตนั้น ผู้แต่งต้องเต้นไปตามกรรมที่แต่งไว้ ข้าฯจึงอยากแต่งตามกรรมดี…’
เห็นด้วยมั๊ยครับ
แสดงความคิดเห็น